
ภาษีซื้อรถยนต์ ประเด็นภาษีที่ต้องระวังเมื่อซื้อรถยนต์สำหรับกิจการ
ในประมวลรัษฎากร กำหนดให้หัก ภาษีซื้อรถยนต์ ค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินประเภท รถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตจากมูลค่าต้นทุนเฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งล้านบาทเท่านั้น การพิจารณา ว่ารถยนต์ได้เป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ให้พิจารณาจากนิยามความหมายตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตและขนส่งดังนี้
ตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับรถยนต์นั่งที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนแต่มีการรับจดทะเบียนรถยนต์นั่งไม่เกิน 7 คนโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจำกัดเวลาแล่นของรถยนต์ที่ไม่ใช่รถยนต์นั่งหรือรถยนต์ที่มีที่นั่งไม่เกิน 7 คน
ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต รถกระบะตอนเดียวไม่ว่าจะมีแคปหรือไม่ถือเป็นรถยนต์บรรทุกจึงไม่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตในขณะที่รถยนต์กระบะ 2 ตอนหรือ 4 ประตูถือเป็นรถยนต์นั่งซึ่งต้องเสียภาษีสรรพสามิต
คำนิยามรถยนต์ตามกฎหมาย
รถยนต์นั่ง คือ รถเก๋งหรือรถยนต์ ตามปกติวิสัย และให้หมายความรวมถึงรถยนต์ในลักษณะทำนองเดียวกัน เช่นรถยนต์ที่มีหลังคาติดต่อเป็นเนื้อเดียวกันในลักษณะถาวรด้านข้างหรือด้านหลังคนขับมีประตูหรือหน้าต่างและมีที่นั่งทั้งนี้ไม่ว่าจะมีที่นั่งเท่าใด
รถยนต์โดยสาร คือ รถตู้หรือรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้ขนส่งคนโดยสารจำนวนมาก รวมทั้งรถยนต์ ในลักษณะทำนองเดียวกัน
รถยนต์กระบะ คือ รถยนต์ที่มีที่นั่งด้านหน้าตอนเดียวสำหรับคนขับ และตอนหลังเป็นกระบะบรรทุกซึ่งเปิดโล่ง จนถึงท้ายรถโดยไม่มีหลังคา
จากคำนิยามดังกล่าว จะสังเกตว่ารถยนต์นั่งก็คือรถเก๋ง หรือรถยนต์ที่ออกแบบเพื่อใช้สำหรับนั่งเป็นปกติวิสัย
ประเด็นภาษีมูลค่าเพิ่มเกี่ยวกับ ภาษีซื้อรถยนต์
เมื่อผู้ประกอบการซื้อรถยนต์มาใช้ในการประกอบกิจการ จะถูกผู้ขายเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีซื้อตามกฎหมาย ไม่ว่ารถยนต์นั้นจะเป็นรถกระบะราคาไม่แพงหรือรถเก๋งราคาหลายล้านบาท นอกจากนั้น ต่อมาเมื่อมีการจ่ายค่าอะไหล่ ค่าอุปกรณ์ ค่าซ่อมรถยนต์ ผู้ประกอบการจะมีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มหรือภาษีซื้อเช่นกัน ซึ่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกผู้ประกอบการอื่นเรียกเก็บ คือ ภาษีซื้อของผู้ประกอบการนั่นเอง โดยกรมสรรพากร กำหนดไว้ว่า “ภาษีซื้อ” ดังต่อไปนี้ไม่ให้นำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน และภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน เพื่อใช้หรือจะใช้ในกิจการประเภทที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และต่อมาได้มีการดัดแปลงรถยนต์ดังกล่าวเป็นรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน ทั้งนี้เฉพาะที่ได้กระทำภายในสามปี นับแต่เดือนภาษีที่ได้รถยนต์ไว้ในครอบครอง
แม้ว่าภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ทั้งสองกรณีข้างต้น กรมสรรพากร จะไม่อนุญาตให้นำไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ แต่เป็นภาษีซื้อต้องห้ามอีกรายการหนึ่ง ที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ และไม่ใช่แค่ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อรถยนต์ และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน เท่านั้น ที่ผู้ประกอบการไม่สามารถนำมาหักในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ภาษีซื้อต้องห้ามในกรณีนี้ยังรวมถึงภาษีซื้อที่เกิดจากการที่ผู้ประกอบการเช่ารถยนต์ดังกล่าวมาจากผู้ประกอบการรายอื่นด้วย แต่ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ รับโอนรถยนต์ประเภทรถบรรทุก รถกระบะตอนเดียว รถกระบะสเปซแคป หรือสมาร์ทแคป ไม่เป็นภาษีซื้อต้องห้าม และรวมถึงภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวกับรถยนต์นั่ง และรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน เช่น ค่าน้ำมันรถ ค่าอะไหล่ อุปกรณ์ ค่าซ่อมรถยนต์ ถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม
ข้อยกเว้นเพื่อให้ใช้ภาษีซื้อรถยนต์ได้
ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คนที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ มีผลต่อภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีมูลค่าเพิ่ม กล่าวคือ
- ผู้ประกอบการสามารถใช้ภาษีซื้อสำหรับรถยนต์กระบะตอนเดียวได้ ไม่เป็นภาษีซื้อต้องห้าม สามารถนำภาษีซื้อมาใช้เป็นเครดิตหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
- รถยนต์กระบะตอนเดียวไม่จำกัดมูลค่าต้นทุนในการคำนวณหักค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา
- มูลค่าต้นทุนรถยนต์กระบะตอนเดียวในส่วนที่เกินหนึ่งล้านบาทไม่เป็นรายจ่ายต้องห้าม
ประเภทกิจการที่สามารถใช้ภาษีซื้อของรถยนต์ได้
- กิจการขายรถยนต์หรือให้เช่ารถยนต์
หากผู้ประกอบการซื้อรถยนต์นั่งหรือรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน มาเพื่อขายหรือเพื่อให้เช่าในกิจการ มิได้ซื้อมาไว้เพื่อใช้ในการประกอบกิจการโดยตรง ภาษีซื้อที่เกี่ยวข้องกับการซื้อรถยนต์ดังกล่าว เป็นภาษีซื้อที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้
- กิจการรับประกันภัยสำหรับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน
สรุป
ภาษีซื้อที่เกิดจากรถยนต์ในกรณีดังต่อไปนี้เป็นภาษีซื้อต้องห้าม แต่กฎหมายยอมให้นำมาหักรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลได้
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อ เช่าซื้อ เช่า หรือรับโอนรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน
- ภาษีซื้อที่เกิดจากการซื้อสินค้าหรือการรับบริการที่เกี่ยวกับรถยนต์นั่งและรถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกินสิบคน
- กรณีเงินดาวน์
- กรณีสัญญาเช่า แบบลีสซิ่งซึ่งเป็นแบบ Finance Lease
ในทางภาษีอากร ค่าเช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์นั่งถือเป็นรายจ่ายได้ไม่เกิน 36,000 บาทต่อเดือน ส่วนที่เกินถือเป็นรายจ่ายต้องห้าม ดังนั้นกิจการจึงต้องเปรียบค่าเช่าแบบลิสซิ่งซึ่งทางภาษีอากรกับจำนวนค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคา (ตามราคาเงินสด) กับค่าดอกผลตัดจ่ายแล้วบวกกับส่วนที่เกินค่าเช่าแบบลิสซิ่ง
- กรณีสัญญาเช่าแบบลิสซิ่งเป็นแบบ Operating Lease
กิจการต้องนำส่วนที่เกินกว่า 36,000 บาท ต่อเดือน มาบวกกับเป็นรายจ่ายต้องห้าม สำหรับเงินมัดจำถือเป็นทรัพย์สินที่ไม่อาจคิดค่าสึกหรอและค่าเสื่อมราคาได้
ดังนั้น “รายจ่ายรถยนต์” ที่ใช้ในกิจการ แบบไหนหักภาษีได้
- รถยนต์นั่งไม่เกิน 10 คน เช่น รถเก๋ง หากซื้อเงินสดในนามกิจการ สามารถหักค่าเสื่อมราคาได้ในส่วนที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท หากผ่อนชำระสำหรับรถยนต์ราคาไม่เกิน 1 ล้านบาทควรเลือกเช่าซื้อ แต่ถ้ารถยนต์ราคาเกิน 1 ล้านบาทควรเลือกลีสซิ่ง เนื่องจากกรณีเช่าสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 36,000 บาท/เดือน
- รถยนต์ที่นั่งเกิน 10 คน เช่น รถกระบะ รถตู้ รถแบคโฮ หากซื้อในนามกิจการ สามารถหักค่าเสื่อมได้เต็มจำนวนตามมูลค่าสินทรัพย์ กรณีเช่าสามารถนำมาหักเป็นรายจ่ายได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 36,000 บาท/เดือน
หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อ สอบถาม บริษัท ทำบัญชี MFN Accounting เรามุ่งมั่นที่จะมอบบริการชั้นยอดให้กับลูกค้า บริษัทรับทำบัญชี ที่ให้บริการครอบคลุมทุกเรื่องบัญชี ไม่ว่าจะเป็น การวางแผนภาษี ปิดงบการเงินประจำปี ตรวจสอบบัญชี จดทะเบียนบริษัท และ จดทะเบียนห้างหุ้นส่วน