ใบกำกับภาษีอย่างย่อ เอกสารสำคัญที่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคควรรู้

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ เอกสารสำคัญที่ผู้ประกอบการและผู้บริโภคควรรู้

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ” นั้นมีความสำคัญ ต่อผู้ขายสินค้า ต่อผู้ให้บริการและต่อลูกค้าที่เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ และรวมไปถึงกรมสรรพากร ใบกำกับภาษีนั้นถือเป็นเอกสารภาษีอากรที่ประมวลรัษฎากรกำหนดให้ผู้ประกอบการ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีหน้าที่ต้องจัดทำทุกครั้งที่การเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น

นอกจากใบกำกับภาษีจะเป็นเอกสารสำหรับแสดงรายการการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วนั้น ประเด็นน่ารู้เกี่ยวกับใบกำกับภาษีก็อีกมากมาย ซึ่งจะมีประเด็นที่น่าสนใจอะไรบ้าง วันนี้ บริษัท ทำบัญชี M.F.N Accounting จะมาสรุปให้คุณได้อ่านกัน

การจดทะเบียนบริษัทและจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

ปัจจุบันผู้ประกอบการมีความประสงค์จดทะเบียนบริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือจัดตั้งนิติบุคคล กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และประสงค์จะเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ รวมไปถึงผู้ประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มอยู่แล้วและประสงค์จะจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมกับการจดทะเบียนบริษัท ห้างหุ้นส่วน หรือจัดตั้งนิติบุคคล ผู้ประกอบการสามารถจดทะเบียนบริษัทและจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ได้ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในคราวเดียว หรือเรียกว่าเป็น “One Stop Service” 

บุคคลใดไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือจดทะเบียนโดยสำคัญผิด และได้ออกใบกำกับภาษีให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการถือเป็นการออกใบกำกับภาษีที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผู้ออกและผู้ใช้ใบกำกับภาษีต้องรับโทษจำคุก เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ค่าปรับ ตามที่ประมวลรัษฎากรกำหนด

รูปแบบของ ใบกำกับภาษี ที่ผู้ประกอการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มควรทราบ

ใบกำกับภาษี

ตามกฎหมายใบกำกับภาษีมี 2 รูปแบบ คือ ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป และ ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ซึ่งผู้มีหน้าที่ออกใบกำกับภาษี ทั้ง 2 แบบนี้ ต้องเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มกับกรมสรรพากร ไม่ว่าในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตของกรมสรรพากร หรือในรูปแบบกระดาษ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่

ใบกำกับภาษีทั้ง 2 รูปแบบ มีความแตกต่างกันมากและการใช้ประโยชน์ทางภาษีมีความแตกต่างกันด้วยเช่นกัน สรุปสาระสำคัญของความแตกต่างได้ ดังนี้

การใช้ประโยชน์และข้อมูลที่ควรแสดงใน ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป  

  1. ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษี ได้แก่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษี มูลค่าเพิ่มทั่วไป
  2. ต้องแสดงชื่อ- สกุล ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียกาษีของผู้ซื้อสินค้าและบริการอย่างชัดเจน
  3. ต้องแสดงชื่อ ชนิด และประเภทของสินค้าหรือบริการอย่างชัดเจน
  4. ต้องแยกจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากราคาสินค้าหรือบริการอย่างชัดเจน
  5. สามารถนำไปคำนวณออกจากภาษีขายในการยื่นแบบ ภ.พ.30 ได้

การใช้ประโยชน์และข้อมูลที่ควรแสดงใน ใบกำกับภาษีอย่างย่อ 

  1. ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษี ได้แก่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีก หรือให้บริการ ในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก
  2. ไม่จำเป็นต้องแสดงชื่อ – สกุล ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าและบริการ
  3. ชื่อ ชนิด และประเภทของสินค้าหรือบริการสามารถแสดงเป็นรหัสสินค้าได้
  4. มีข้อความแสดงอย่างชัดเจนว่าราคาสินค้าหรือบริการ รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT Included) ไว้แล้ว
  5. ไม่สามารถนำไปคำนวณออกจากภาษีขายในการยื่นแบบ ภ.พ.30 ได้

กิจการที่มีสิทธิออก ใบกำกับภาษีอย่างย่อ

มาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32)ฯ กำหนดให้กิจการขายสินค้าหรือให้บริการบางประเภทเท่านั้นที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ ซึ่งแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ 

กิจการขายสินค้าที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

กิจการขายสินค้าที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ กิจการที่มีลักษณะเป็นการขายปลีกในลักษณะการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง และได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปบริโภคหรือใช้สอยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อไป เช่น การขายสินค้าของกิจการแผงลอย กิจการขายของชำ กิจการจำหน่ายน้ำมัน และกิจการห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

กิจการให้บริการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม

กิจการให้บริการที่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม คือ กิจการมีลักษณะเป็นการให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น ร้านอาหาร โรงแรม โรงภาพยนตร์ ซ่อมแซมทุกชนิด เป็นตัน

จากข้อกฎหมายดังกล่าว การออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้นั้น จำเป็นต้องเป็นกิจการค้าปลีกตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร โดยกิจการค้าปลีกนั้นต้องเข้าลักษณะเป็นกิจการขายสินค้าให้แก่บุคคลที่นำสินค้าที่ซื้อนั้นไปบริโภคหรือใช้สอยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อไป (Final Consumer) หรือประกอบกิจการให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก

โดยประเด็นนี้รวมไปถึง กรณีของการขายสินค้าออนไลน์ที่กำลังเป็นที่นิยมและแพร่หลายไม่ว่าจะเป็นการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ หรือช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ ซึ่งผู้ขายสินค้านั้นจะนำสินค้าต่าง ๆ ลงขายผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ หรือช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ เพื่อให้ลูกค้าเลือกซื้อสินค้าตามช่องทางต่างๆ โดยผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจะทำการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการให้บริการขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ หรือช่องทางการขายสินค้าออนไลน์ การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในการให้บริการรับชำระเงินจากผู้ขาย ที่มีจำนวนมากกว่า 2 แสนราย กรณีดังกล่าวถือว่าแพลตฟอร์มเป็นผู้ประกอบการที่ให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก และสามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ได้หรือไม่อย่างไร

จากกรณีดังกล่าว การตีความตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ประมารัษฎากรไม่ได้มีบทนิยามของคำว่า “ค้าปลีก” ไว้แต่อย่างใด แต่จากการพิจารณาตัวอย่างของการให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมากตามข้อ 2 (2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32)ฯ เช่น การให้บริการของกิจการภัตตาคาร กิจการโรงแรม กิจการซ่อมแซม กิจการโรงภาพยนตร์ เป็นต้น อาจจะสรุปได้ว่าผู้รับบริการต้องเป็นผู้บริโภคโดยตรงและมีจำนวนมาก โดยบริการที่รับมานี้จะต้องนำไปเพื่อประโยชน์ของตนเอง โดยไม่มีวัตถุประสงค์จะไปขายต่อให้แก่บุคคลอื่น กรณีดังกล่าว ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มไม่ใช่ผู้บริโภคที่ไม่มีวัตถุประสงค์จะไปขายต่อให้แก่บุคคลอื่นจึงไม่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อสำหรับค่าบริการที่ได้รับจากผู้ขายสินค้าได้

ทั้งนี้ ยังคงมีประเด็นโต้แย้งจากผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เนื่องจากหากพิจารณาค่าธรรมเนียมที่ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มเรียกเก็บจากผู้ขายสินค้าแล้ว สามารถเข้าองค์ประกอบตามข้อ 2 (2) ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 32)ฯ ได้ กล่าวคือ ผู้ขายสินค้าที่มีจำนวนมากกว่า 2 แสนราย และเป็นผู้จ่ายค่าธรรมเนียมการวางสินค้าให้ผู้ประกอบการแพลฟอร์มโดยตรง ถือว่าผู้ขายสินค้าเป็นผู้บริโภคซึ่งไม่มีวัตถุประสงค์จะไปเรียกเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวจากผู้ซื้อสินค้าแต่อย่างใด ผู้ประกอบการแพลตฟอร์มจึงสามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้ผู้ขายสินค้าในกรณีดังกล่าวได้ โดยหากจะแถลงไขข้อประเด็นดังกล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คงต้องให้ทางกรมสรรพากรเป็นผู้ให้คำตอบเป็นลายลักษณ์อักษรว่าเห็นด้วยกับแนวทางอย่างแน่ชัด

รูปแบบและลักษณะของการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ

การออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ สามารถออกได้โดย 2 วิธี คือ การออกใบกำกับภาษีอย่างย่อโดยใช้การเขียนด้วยลายมือ และ การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Point Of Sale – POS) ซึ่งการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อแต่ละวิธีจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ดังนี้

ใบกำกับภาษีอย่างย่อโดยการเขียนด้วยลายมือ

ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อด้วยวิธีการเขียนในกระดาษตามรูปแบบที่พิมพ์มาจากโรงพิมพ์ หรือจัดทำด้วยโปรแกรมใบกำกับภาษีอย่างย่อสำเร็จรูป หรืออื่น ๆ ที่ไม่ได้ออกด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน สามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแต่อย่างใด ใบกำกับภาษีอย่างย่อดังกล่าว ต้องมีรายการในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากร ดังนี้

  1. คำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ”
  2. ชื่อ หรือชื่อย่อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร (13 หลัก) ของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ
  3. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
  4. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า/บริการ ออกเป็นรหัสก็ได้
  5. ราคาสินค้า/บริการ ต้องระบุให้เห็นชัดเจนว่า “รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม” แล้ว
  6. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
  7. ข้อความอื่น ๆ ตามที่กรมสรรพากรกำหนด

เนื่องจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการกรณีดังกล่าวมีจำนวนมากและส่วนใหญ่เป็นผู้บริโภคที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจึงไม่ประสงค์จะรับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป แต่ผู้ขายสินค้าและผู้ให้บริการยังคงมีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าตามกฎหมาย ดังนั้นประมวลรัษฎากรจึงได้กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อซึ่งมีรายการน้อยกว่าใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปและผ่อนผันรูปแบบการออกใบกำกับภาษีให้สะดวกต่อการใช้งานมากขึ้น เช่น ไม่มีรายการชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้ให้บริการ และไม่มีรายละเอียดชื่อ ชนิด ประเภท ของสินค้าหรือบริการ โดยสามารถออกเป็นรหัสได้ เป็นต้น ทำให้ภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษีอย่างย่อไม่สามารถนำไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ และหากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการประสงค์จะนำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้จ่ายตามใบกำกับภาษีอย่างย่อไปคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในแบบ ภ.พ.30 ผู้ซื้อส้นค้าหรือผู้รรับบริการจะต้องนำกำกับภาษีอย่างย่อที่ได้รับ ไปให้ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการออใบกำกับภาษีเต็มรูปตามมาตรา 86/4 เท่านั้น

ใบกำกับภาษีอย่างย่อออกด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Point Of Sale – POS)

เครื่องบันทึกการเก็บเงิน (Point Of Sale – POS) เป็นเครื่องที่เห็นทั่วไปในร้านขายสินค้าหรือให้บริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น ร้านสะดวกซื้อ ร้านอาหาร ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า สถานีบริการน้ำมัน ร้านสะดวกซื้อ เป็นต้น เครื่องบันทึกการเก็บเงินเป็นอุปกรณ์ที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งลดปัญหาการออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่ไม่ถูกต้องของพนักงาน และทำให้เจ้าของกิจการสามารถตรวจสอบรายได้ต่อวันได้ง่ายอีกด้วย ระบบ POS นอกจากจะช่วยผู้ประกอบการในเรื่องการขายแล้ว ระบบ POS ที่เชื่อมต่อกับระบบคลังสินค้าจะช่วยให้สามารถบริหารจัดการสต๊อกสินค้าและการจัดซื้อจัดหาสินค้าไว้มีพร้อมขายให้กับลูกค้าอีกด้วย

การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินต้องมีรายการและข้อมูลตามมาตรา 86/6 แห่งประมวลรัษฎากรเหมือนกับการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อโดยการเขียนด้วยลายมือ แต่อย่างไรก้ตามการออกใบกำกับภาษีอย่างย่อออกด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงินจะมีความแตกต่างจากการเขียนด้วยลายมือตรงที่ การออกใบกำกับภาษีอย่างย่อออกด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงินจะมีทั้งแบบที่มีความเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพากร โดยแต่ละกรณีจะมีรายละเอียด ดังนี้

กรณีไม่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพากร

การออกใบกำกับภาษีอย่างย่อออกโดยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน ในกรณีไม่เกี่ยวข้องกับกรมสรรพากร คือ กรณีผู้ใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บุคคลดังกล่าวสามารถติดตั้งและใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินได้โดยไม่ต้องขออนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรแต่อย่างใด เอกสารที่ออกจากเครื่องดังกล่าวจึงไม่มีรายการตามที่กำหนดใน 3.1 และไม่รียกว่าใบกำกับภาษีอย่างย่อ แต่อาจเรียกว่า “เครื่องบันทึกเงินสด” หรืออื่นใด

กรณีเกี่ยวข้องกับกรมสรรพากร

การออกใบกำกับภาษีอย่างย่อออกโดยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน ในกรณีเกี่ยวข้องกับกรมสรรพากร คือ กรณีผู้ประสงค์จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยก่อนที่ผู้ประกอบการจะนำเครื่องดังกล่าวมาใช้ออกใบกำกับภาษีอย่างย่อให้ลูกค้า ผู้ประกอบการจะต้องยื่นคำขอตามแบบ ภ.พ.06 โดยแยกเป็นรายสถานประกอบการต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ พร้อมแนบเอกสารประกอบ เช่น คุณสมบัติของเครื่องบันทึกการเก็บเงินและแผนผังการต่อเชื่อมเครื่องบันทึกการเก็บเงินกับอุปกรณ์อื่น ตัวอย่าง ใบกำกับภาษีและรายงานต่าง ๆ ที่ออกจากเครื่องบันทึกการเก็บเงิน แผนผังการวางเครื่องบันทึกการเก็บเงิน ซึ่งกรมสรรพากรแจ้งผลการพิจารณาคำขอ พร้อมทั้งแจ้งเลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงิน และติดแถบสติกเกอร์ที่เครื่องให้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนจึงมีสิทธิใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ โดยรายการของใบกำกับภาษีอย่างย่อต้องมีครบตามที่กำหนดใน 3.1เนื่องจากขั้นตอนการขออนุมัติเพื่อใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินมีอยู่หลายขั้นตอนมาก จึงทำให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องพึงระวังว่า หากผู้ประกอบการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินโดยไม่ได้รับอนุมัติจากกรมสรพากร จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำและปรับ

นอกจากการขออนุญาตจากกรมสรรพากรก่อนใช้เครื่องการเก็บเงินแล้ว หากผู้ประกอบการจดทะเบียนจะเปลี่ยนแปลงการใช้ เครื่องบันทึกการเก็บเงิน เช่น จำหน่าย ย้าย (แบบถาวรหรือชั่วคราว) ทำลาย ยกเลิก เครื่องสูญหาย เป็นต้น ผู้ประกอบการต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินที่เคยได้รับอนุมัติตามแบบ ภ.พ.06.1 ต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่หรือกองบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ภายใน 7 วัน ก่อนวันจำหน่าย ย้าย ทำลาย เว้นแต่กรณีมีเหตุสุดวิสัย ให้แจ้งภายใน 7 วัน นับแต่มีเหตุ พร้อมแนบเอกสารประกอบการพิจารณา เงื่อนไขต่าง ๆ เหล่านี้ ผู้ประกอบการหลายท่านไม่ทราบและไม่ได้ปฏิบัติตามที่กฎหมายกำหนดแต่อย่างใด

ใบกำกับภาษีเป็นเอกสารภาษีตามกฎหมายที่มีความสำคัญต่อผู้ประกอบการและลูกค้า ซึ่งการจัดทำใบกำกับภาษีต้องเป็นไปตามรูปแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ประมวลรัษฎากรกำหนดเท่านั้น โดยใบกำกับภาษีอย่างย่อไม่มีรายการเหมือนใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป จึงไม่สามารถนำไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ แต่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการสามารถนำไปถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิได้ ไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (6 ทวิ) แต่อย่างใด

Leave a Comment