
ภาษีเงินได้นิติบุคคล สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญสำหรับการสร้างธุรกิจ
สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญสำหรับการสร้างธุรกิจคือการเลือกรูปแบบธุรกิจที่เหมาะสำหรับธุรกิจของตนเองให้มากที่สุด ระหว่าง “บุคคลธรรมดา” หรือ “นิติบุคคล” เพราะ 2 รูปแบบนี้มีความแตกต่างกันทั้งในเรื่องของการบริหาร การทำบัญชี ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีอื่นๆ ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการ
รูปแบบของการดำเนินธุรกิจในประเทยไทย ทั้ง 3 รูปแบบ
ในการดำเนินธุรกิจผู้ประกอบการสามารถเลือกประกอบการได้หลายรูปแบบตามความเหมาะสมของเงินทุนในการประกอบการ ความพร้อมของทรัพยากร ขนาดและประเภทธุรกิจของธุรกิจที่มีความประสงค์จะดำเนินการ ดังนั้นก่อนการเริ่มต้นดำเนินธุรกิจ ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาขีดความสามารถของตนเองว่าควรจะดำเนินการจัดตั้งรูปแบบใด โดยทั่วไปแล้วการดำเนินธุรกิจสามารถจัดตั้งได้ 3 รูปแบบ คือ
1. กิจการเจ้าของคนเดียว
เป็นธุรกิจที่สามารถพบเห็นในชีวิตประจำวันมากที่สุด เช่น ร้านขายของชำ ร้านเสริมสวย ร้านขายเสื้อผ้า หาบเร่ แผงลอย เป็นต้น โดยกิจการเจ้าของคนเดียวเป็นการประกอบธุรกิจที่บุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของกิจการ และบริหารจัดการทุกเรื่องด้วยตนเอง การประกอบธุรกิจในรูปแบบนี้จะใช้ต้นทุนต่ำ มีวิธีการดำเนินงานที่ง่าย ไม่ยุ่งยาก การบริหารจัดการต่างๆมีความคล่องตัวสูง
2. ห้างหุ้นส่วน
ต้องมีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป และสามารถทำนิติกรรมตามกฎหมายได้โดยการสัญญาด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรที่จะเข้าเป็นหุ้นส่วนกัน ซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนจะต้องลงทุนร่วมกันด้วยเงินหรือแรงงาน เพื่อวัตถุประสงค์ในการแบ่งกำไรที่จะได้รับจากการดำเนินกิจการร่วมกัน ซึ่งห้างหุ้นส่วนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนสามัญ และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล โดยห้างหุ้นส่วนทั้ง 2 ประเภท จะมีรายละเอียดการดำเนิงงานที่แตกต่างกัน ดังนี้
ห้างหุ้นส่วนสามัญ
ผู้เป็นหุ้นส่วนจะต้องรับผิดชอบในการชำระหนี้สินร่วมกันโดยไม่จำกัดจำนวน ห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลหรือไม่ก็ได้ โดยมีวัตถุประสงค์จะแบ่งกำไรและขาดทุนที่เกิดจากการประกอบธุรกิจนั้นในสัดส่วนเท่ากันตามจำนวนหุ้น ห้างหุ้นส่วนสามัญแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล (จดทะเบียน) เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย หากมีการฟ้องร้องต้องฟ้องห้างหุ้นส่วนก่อนและเมื่อสินทรัพย์ของห้างหุ้นส่วนไม่พอชำระหนี้ จะฟ้องร้องจากหุ้นส่วนเป็นลำดับถัดไป
- ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล (ไม่จดทะเบียน) เป็นห้างหุ้นส่วนที่ไม่ได้จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย ผู้ที่เป็นหุ้นส่วนกับห้างหุ้นส่วนจะไม่แยกกัน เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องบุคคลใดก็ได้
ห้างหุ้นส่วนจำกัด (จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล)
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลมีผลทำให้กิจการนั้นเสมือนเป็นบุคคล และมีสิทธิดำเนินการต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนด ผู้เป็นหุ้นส่วนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- หุ้นส่วนประเภทจำกัดความรับผิด จะรับผิดชอบเพียงจำนวนเงินหรือทรัพย์สินที่ตนรับว่าจะลงทุนในห้างหุ้นส่วนเท่านั้น
- หุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิด (หุ้นส่วนผู้จัดการ) คือผู้ซึ่งรับผิดชอบในบรรดาหนี้สินทั้งหมดของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวน
ความแตกต่างของห้างหุ้นส่วนสามัญและห้างหุ้นส่วนจำกัด (จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล)
ห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือห้างหุ้นส่วนสามัญไม่จดทะเบียน
- ประกอบกิจการในรูปแบบของบุคคลธรรมดา 2 คน ไม่ต้องจดทะเบียนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
- ความน่าเชื่อถือ อยู่ที่หุ้นส่วนที่เป็นบุคคลธรรมดาทั้ง 2 ท่าน
- การจัดตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญง่ายและปิดกิจการก็ง่าย
- การเสียภาษีสามารถนำค่าลดหย่อนส่วนส่วนบุคคลมาลดหย่อนได้แค่ 2 ท่าน ไม่มีลดหย่อนอื่นๆ
- เสียภาษีในอัตราก้าวหน้า อัตราสูงสุด 35%
ห้างหุ้นส่วนจำกัด (จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล)
- ต้องจดทะเบียนที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
- มีความน่าเชื่อถือมากกว่าห้างหุ้นส่วนสามัญ
- การจัดตั้งมีความยุ่งยากมากกว่า และการปิดกิจการก็มีขั้นตอนมากกว่าห้างหุ้นส่วนสามัญ
- การเสียภาษีจากกำไรหลังหักค่าใช้จ่ายจริง
- อัตราภาษีใช้เรท SMEs โดยหากกำไร
- ไม่เกิน 3 แสนบาท ได้รับการยกเว้นภาษี
- เกิน 3 แสน – ไม่เกิน 3 ล้านบาท อัตราภาษี 15%
- เกิน 3 ล้านบาท อัตราภาษี 20%
3. บริษัทจำกัด (Corporation)
บริษัทจำกัดเป็นการประกอบกิจการที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อแสวงหากำไรจากกิจการ ซึ่งจะแบ่งทุนออกเป็นหุ้นที่มีมูลค่าหุ้นละเท่าๆกัน และมีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป โดยผู้ถือหุ้นแต่ละคนจะมีความรับผิดชอบจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งไม่ครบมูลค่าหุ้นที่ถืออยู่ ในปัจจุบันประเทศไทยแบ่งบริษัทจำกัดออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
บริษัทจำกัด
บริษัทจำกัดเป็นบริษัทประเภทหนึ่งซึ่งจัดตั้งด้วยการแบ่งทุนเป็นหุ้นที่มีมูลค่าเท่าๆกัน โดยมีผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่า 3 คน
บริษัทมหาชนจำกัด
บริษัทมหาชนจำกัดเป็นบริษัทประเภทหนึ่งซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์ในการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน ซึ่งถือหุ้นตั้งแต่ 15 คนขึ้นไป โดยผู้ถือหุ้นมีความรับผิดชอบจำกัดไม่เกินจำนวนหุ้นที่ต้องชำระ และบริษัทดังกล่าวได้ระบุความประสงค์เช่นนั้นไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิ
ความแตกต่างของการประกอบกิจการรูปแบบของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
ความแตกต่างของกิจการรูปแบบของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล สามารถสรุปประเด็นได้ดังนี้
1. การเสียภาษี
บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล ที่มีรายรับจากการประกอบกิจการ จำเป็นจะต้องเสียภาษีตามบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้ แต่อย่างไรก็ตาม ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีเงินได้นิติบุคคล นั้นจะมีอัตราการเสียภาษีที่แตกต่างกันดังต่อไปนี้
การเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สำหรับ “ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา” อัตราภาษีสูงสุดอยู่ที่ 35% โดยการคำนวณมี 2 วิธี
วิธีที่ 1 เงินได้สุทธิ x อัตราภาษีก้าวหน้า (เงินได้สุทธิ = รายได้ – รายจ่าย – ค่าลดหย่อน)
วิธีที่ 2 รายได้นอกเหนือจากเงินเดือนหรือค่าจ้างแรงงานก่อนหักค่าใช้จ่าย x 0.5%
ทั้งนี้หากการคำนวณภาษีตามวิธีที่ 2 แล้วไม่เกิน 5,000 บาทให้เสียภาษีตามวิธีที่ 1
การเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล
ผู้ประกอบการจะเสียภาษีจากกำไรสุทธิ (รายได้ – ค่าใช้จ่าย) โดยมีอัตราภาษี คือ หากเป็นนิติบุคคลทั่วไปอยู่ที่ 20% สำหรับ SMEs มีการยกเว้น/ลดหย่อน อัตราภาษีในลักษณะขั้นบันไดสูงสุดไม่เกิน 20% ในกรณีขาดทุนไม่ต้องเสียภาษี และยังสามารถนำผลขาดทุนไปหักกำไรต่อปีได้สูงสุดถึง 5 ปีด้วย (สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการไม่เกิน 30 ล้านต่อปี)
จะเห็นได้ว่าระหว่างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและ ภาษีเงินได้นิติบุคคล จะแตกต่างกันตามรูปแบบของธุรกิจ หากลองย้อนกลับมาดูวว่าธุรกิจของท่านอยู่รูปแบบใดเพื่อที่จะได้วางแผนภาษี และทำให้ถูกต้องเพื่อประโยชน์โดยตรงต่อตัวธุรกิจของท่านเอง
2. ความน่าเชื่อถือ
แน่นอนว่าการทำธุรกิจในรูปแบบของนิติบุคคลนั้นมีความน่าเชื่อถือมากกว่า เนื่องจากมีเหตุผลหลายประการ เช่น
- นิติบุคคลเป็นการจดทะเบียนจัดตั้งกับภาครัฐซึ่งต้องมีเอกสารมากกว่าการทำธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดา
- นิติบุคคลต้องจัดทำบัญชีตามมาตรฐานการบัญชี ดังนั้นต้องมีการวางระบบบัญชีเพื่อความถูกต้องและมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งส่งผลต่อการขยายธุรกิจ การติดต่อ การหาแหล่งเงินทุน
ตามที่กล่าวข้างต้นว่าการประกอบธุรกิจในรูปแบบของบุคคลธรรมดานั้น ต้องปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีด้วย ดังนั้น ต้องมีการวางระบบบัญชี มีนักบัญชี มีคนตรวจสอบบัญชีและรับรองบัญชี เพื่อให้ถูกต้องและเป็นไปตามกฎหมาย ข้อบังคับของกฎหมาย การประกอบกิจการในรูปแบบของนิติบุคคลจะต้องมีข้อมูลบัญชีที่น่าเชื่อถือในแต่ละธุรกรรม เพราะจะช่วยทำให้ธุรกิจรู้สภาพปัจจุบันของธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นต้นทุน กำไรขั้นต้น หรือกำไรสุทธิ ทำให้ผู้บริหารแก้ปัญหาได้ตรงจุด
ความเสี่ยง และ ข้อควรระวังเรื่องภาษี ที่ผู้ประกอบการควรรู้
ข้อควรระวังซึ่งผู้เสียประกอบการมักจะทำผิดเกี่ยวกับภาษีเงินได้นิติบุคคล และ ภาษีประเภทอื่นๆ แบ่งออกเป็นกรณีต่าง ๆ ดังนี้
1. ลืมจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือจ่ายภาษีไม่ครบทุกประเภท
หากกิจการลืมจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล หรือจ่ายภาษีไม่ครบทุกประเภทส่งผลทำให้ต้อง
- ชำระค่าภาษี + ค่าปรับย้อนหลังแพง ๆ
- คำนวณภาษีหรือกรอกแบบภาษีไม่ถูก ส่งผลให้ต้องชำระค่าปรับทางภาษีเพิ่มเติม
คำแนะนำ : ควรจดบันทึกวันเวลาที่ต้องชำระภาษี ส่วนเรื่องการคำนวณหรือกรอกภาษี ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญให้ช่วยตรววจทานก่อนยื่นภาษีและนำส่งภาษี
2. ลืมจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)เมื่อถึงเกณฑ์บังคับจด (ค่าปรับแพงมาก)
โดยเมื่อรายได้ถึงเกณฑ์ 1.8 ล้านบาท แต่ไม่จด VAT ส่งผลให้ต้องชำระค่าปรับและอาจโดนตรวจภาษีก่อน ทำให้ถูกประเมินภาษีค่าปรับในราคาสูงได้ นอกจากนั้นหลังจากจด VAT
3. ลืมปิดงบหรือนำส่งเกินกำหนด (ค่าปรับหลักหมื่น)
ผู้ประกอบการใหม่มักไม่ได้สนใจเรื่อง “ปิดงบการเงิน“ หรือไม่รู้ว่าต้องปิดงบการเงินเมื่อใด ? ซึ่งเมื่อเกินกำหนด ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าจะส่งจดหมายแจ้ง หรือออกหมายเรียกโดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ถือเป็นคดีความ) แจ้งผู้ประกอบการให้ไปชำระ “ค่าปรับ” พร้อมทั้งนำงบการเงินที่ปิดแล้วนำส่งที่กรมพัฒน์ฯ ด้วย
หมายเหตุ : ค่าปรับสูงสุด กรมพัฒน์ + กรมสรรพากรรวมกันเกือบ 2 หมื่นบาท
คำแนะนำ : การปิดงบการเงินและการนำส่งต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ซึ่งก็คือผู้สอบบัญชี จึงจำเป็นต้องมีการว่าจ้างให้มาช่วยตรวจสอบบัญชีและจัดทำงบการเงิน
4. ไม่มีการวางแผนประหยัดภาษีอย่างถูกต้อง
“การวางแผนภาษี” คือ การเตรียมการเพื่อเสียภาษีให้ถูกต้อง ครบถ้วน ในฐานะพลเมืองดีและใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ ที่กฎหมายกำหนดไว้ไปใช้ลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและ ภาษีเงินได้นิติบุคคลประจำปี เพื่อบรรเทาภาระภาษีให้น้อยลง ไม่ต้องเสียภาษีมากจนเกินไป รวมถึงไม่ต้องชำระภาษีเพิ่มหรือเสียเบี้ยปรับโดยใช่เหตุ และยิ่งกจการมีการวางแผนภาษีได้เป็นอย่างดี เงินที่ประหยัดได้นี้ ก็สามารถนำไปต่อยอดให้ออกดอกออกผล สร้างเงินกลับมาได้อีกต่อไป
5. บิลจ่ายไม่ถูกต้อง
เอกสารรายจ่ายที่มี อาจไม่ได้ดูว่าเป็นเอกสารรายจ่ายที่สรรพากรไม่ยอมรับ ทำให้ไม่สามารถใช้รายจ่ายเพื่อลดภาษีได้ส่งผลให้บางกรณีธุรกิจขาดทุน แต่ต้องเสียภาษี เนื่องจากรายจ่ายส่วนใหญ่เป็นเอกสารที่ไม่ถูกต้อง
6. หาข้อมูลด้านบัญชีและภาษีจากแหล่งที่ไม่ถูกต้อง
ผู้ประกอบการที่ไม่มีนักบัญชีบริษัท เมื่อมีปัญหาหรือข้อสงสัยมักหาข้อมูลจาก Internet หรือถามคนใกล้ชิด ซึ่งบางครั้งแหล่งข้อมูลหรือคำแนะนำที่ได้รับเป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งอาจเกิดความเสียหายแก่กิจการในภายหลังได้ เช่น หาทางลดภาษีในแบบไม่ถูกต้อง, การจัดทำเอกสารทางภาษีในแบบผิด ๆ เป็นต้น รวมถึงอาจไม่ได้รับการอัปเดตเรื่อง ภาษีเงินได้นิติบุคคล และ ภาษีประเภทต่าง ๆ อาจทำให้พลาดสิทธิประโยชน์ทางภาษีดีๆ ไปได้