การขายของออนไลน์ผ่าน Shoppee/ Lazada /Tiktok กับ ค่าขนส่ง
ปัญหาเกี่ยวกับ ค่าขนส่งจากที่เราได้กล่าวไปในบทความก่อนหน้านี้ ทั้งในเรื่องของ ปัญหาเกี่ยวกับภาระภาษีเงินได้ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม วันนี้ บริษัท ทำบัญชี M.F.N.Accounting เรามีประเด็นปัญหาอีกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าออนไลน์ นั้นก็คือ ปัญหาเกี่ยวกับ ค่าขนส่ง
ตอนที่ 3 : การขายสินค้าออนไลน์ กับ ปัญหาเกี่ยวกับ ค่าขนส่ง
ปัญหาการขายสินค้าออนไลน์จะมีปัญหาเกี่ยวกับภาษีอีกประเด็นหนึ่งก็คือการเรียกเก็บค่าขนส่งจากผู้ซื้อสินค้า (กล่าวคือ ค่าขนส่งที่เรียกเก็บจากลูกค้านั้นจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือไม่) เนื่องจากมาตรา 81 (1) (ณ) แห่งประมวลรัษฎากรได้กำหนดว่า การให้บริการขนส่งในราชอาณาจักรได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นถ้าผู้ให้บริการขนส่งเรียกเก็บค่าขนส่งจากลูกค้าผู้ซื้อสินค้าจะไม่มีภาระภาษีมูลค่าเพิ่มนั่นเอง (ออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้ซื้อในชื่อผู้ซื้อสินค้าโดยตรง)
ตัวอย่างที่ 1 : ปัญหาการขายสินค้าออนไลน์ที่เกี่ยวกับค่าขนส่ง ที่บริษัทขนส่งได้รับจากผู้ซื้อสินค้า
ผู้ซื้อสินค้าสั่งซื้อสินค้าจากร้านค้าผ่านแพลตฟอร์ม โดยผู้ซื้อจะต้องจ่ายค่าสินค้าจำนวน 2,000 บาท ค่าขนส่ง 100 บาท และลูกค้าจ่ายค่าสินค้าและค่าขนส่งผ่านแพลตฟอร์ม โดยแพลตฟอร์มจะโอนค่าสินค้าให้ผู้ขายสินค้า และค่าขนส่งให้บริษัทขนส่ง โดยราคาออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าจากฐานภาษี 2,000 บาท และบริษัทขนส่งออกใบเสร็จรับเงินให้กับผู้ซื้อ กรณีเช่นนี้ ค่าขนส่งที่บริษัทขนส่งได้รับจากผู้ซื้อสินค้าย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับผู้ซื้อสินค้าถ้าเป็นบุคคลธรรมดาก็ไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด แต่ถ้าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นก็มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ถ้ามีการจ่ายค่าขนส่งตั้งแต่ 1,000 บาท
อย่างไรก็ตามถ้าร้านค้า ขายสินค้าออนไลน์ หรือ ขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม โดยร้านค้าเป็นผู้ส่งสินค้าให้ลูกค้าและเรียกเก็บค่าสินค้าจากผู้ซื้อพร้อมกับเรียกเก็บค่าขนส่งสินค้า กรณีดังกล่าว ถ้าจะพิจารณาเฉพาะประเด็นของการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขนส่งนั้น จะเป็นการยกเว้นให้สำหรับการให้บริการขนส่งที่ไม่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการอื่นร่วมด้วย หรือถ้ามีการขายสินค้าหรือบริการอื่นร่วมด้วย ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือบริการอื่นนั้น จะต้องประกอบกิจการขนส่งเป็นปกติธุระด้วย กล่าวคือ นอกจากประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการแล้ว ยังมีธุรกิจขนส่งเป็นอีกกิจการหนึ่ง ที่ประกอบกิจการเป็นปกติธุระของผู้ประกอบการนั้น ถ้าเป็นเช่นนี้ การประกอบกิจการขายสินค้าออนไลน์และมีการขนส่งให้ลูกค้าด้วย โดยผู้ขายสินค้าออนไลน์ได้ประกอบกิจการขนส่งเป็นปกติธุระด้วย และมีการเรียกเก็บค่าขนส่งแยกกับค่าสินค้า ถ้าขนส่งย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ถ้าได้เก็บค่าขนส่งรวมอยู่กับค่าสินค้า ค่าตอบแทนที่ได้จากผู้ซื้อสินค้าก็จะเป็นค่าตอบแทนจากการขายสินค้าทั้งจำนวน ที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มทั้งจำนวนไม่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มแต่อย่างใด
อย่างไรก็ดี ในสภาพความเป็นจริงของการประกอบกิจการขายสินค้าออนไลน์ของร้านค้าเองหรือร้านค้าขายสินค้าผ่านแพลตฟอร์ม ผู้ประกอบการที่ขายสินค้าออนไลน์มักจะไม่ได้ประกอบกิจการขนส่งเป็นปกติธุระ แต่จะจ้างให้ผู้ประกอบการขนส่งอื่นเป็นผู้ขนส่งสินค้าให้ลูกค้า และเรียกเก็บค่าขนส่งจากลูกค้า ถ้าเป็นการขายสินค้าและมีการเรียกเก็บค่าขนส่งจากลูกค้าเช่นนี้ ค่าขนส่งที่เรียกเก็บนั้นจะถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าสินค้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ไม่ว่าผู้ขายสินค้าจะเรียกเก็บค่าขนส่งแยกกับราคาสินค้าหรือรวมกับราคาสินค้า เนื่องจากผู้ขายสินค้าไม่ได้ประกอบกิจการขนส่งนั่นเอง จึงมีผลทำให้ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าดังกล่าว โดยฐานภาษีมูลค่าเพิ่มจะคิดจากมูลค่าทั้งหมดที่ได้รับจากการขายสินค้า (รวมค่าขนส่งด้วย)
ตัวอย่างที่ 2 : ปัญหาการขายสินค้าออนไลน์ที่เกี่ยวกับ ค่าขนส่ง ที่บริษัทขนส่งเรียกเก็บค่าขนส่งจากร้านค้า
ผู้ซื้อสินค้าสั่งซื้อสินค้าจากร้านค้าผ่านแพลตฟอร์ม โดยผู้ซื้อจะต้องจ่ายค่าสินค้าจำนวน 2,000 บาท มีค่าขนส่ง 100 บาท และลูกค้าจ่ายค่าสินค้าและค่าขนส่งผ่านแพลตฟอร์ม โดยแพลตฟอร์มจะโอนค่าสินค้าให้ผู้ขายสินค้า และค่าขนส่งให้บริษัทขนส่ง โดยราคาออกใบกำกับภาษีให้ลูกค้าจากฐานภาษี 2,100 บาท (ร้านค้าต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มรวมค่าขนส่งจากฐานภาษีจำนวน 2,100 บาท) และเมื่อบริษัทขนส่งเรียกเก็บค่าขนส่งจากร้านค้า (ทางปฏิบัติอาจโอนจากแพลตฟอร์มซึ่งทำแทนร้านค้าให้บริษัทขนส่ง) การให้บริการขนส่งดังกล่าวได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทขนส่งไม่ต้องออกใบกำกับภาษี แต่ต้องออกใบเสร็จรับเงินแค่ร้านค้า 100 บาท และถ้าลูกค้าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นก็จะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 (ถ้ามีการจ่ายตามสัญญารายหนึ่งๆ ตั้งแต่ 1,000 บาท)
ประเด็นเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าขนส่งสำหรับการซื้อขายสินค้าออนไลน์ อาจจะมีปัญหาในส่วนที่เกี่ยวกับภาษีอีกประเด็นหนึ่ง ก็คือ กรณีที่ผู้ซื้อสินค้าได้ซื้อสินค้าจากร้านค้าออนไลน์ไม่ว่าจะซื้อจากร้านค้าที่เป็นแพลตฟอร์มของร้านค้าโดยตรง หรือซื้อผ่านแพลตฟอร์มที่ร้านค้าได้นำสินค้าไปวางขาย โดยปกติลูกค้าผู้ซื้อสินค้าจะทราบว่าราคาสินค้าที่ต้องจ่ายเท่าใด และค่าขนส่งที่จะต้องจ่ายเท่าใดจากรายการที่ปรากฏในแพลตฟอร์ม เมื่อตกลงซื้อสินค้า แต่เมื่อลูกค้าโอนเงินหรือจ่ายเงินค่าสินค้าพร้อมค่าขนส่งผ่านแพลตฟอร์ม อาจจะปรากฏว่าค่าขนส่งที่ลูกค้าจ่ายไปนั้นได้จ่ายเกินไปหรือจ่ายขาดไปจากที่บริษัทขนส่งได้คิดค่าขนส่ง ซึ่งร้านค้าจะเป็นผู้รับผิดชอบสำหรับค่าขนส่งที่จ่ายขาดหรือเกินไป โดยบริษัทขนส่งจะเรียกเก็บส่วนที่ขาดจากร้านค้าและคืนส่วนที่เกินให้ร้านค้า (ลูกค้าผู้ซื้อไม่ต้องจ่ายเพิ่มกรณีขาดไปและไม่ได้รับคืนกรณีเกินไป) มีปัญหาว่าค่าขนส่งส่วนนี้เมื่อร้านค้าได้รับจากบริษัทขนส่งจะต้องเสียภาษีอย่างใด หรือเมื่อร้านค้าจากจะต้องเสียภาษีอย่างใด แยกพิจารณาได้ดังนี้
- กรณีร้านค้าได้รับ ย่อมถือเป็นรายได้ที่ร้านค้าต้องนำมาเสียภาษีเงินได้ โดยถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร แต่ร้านค้าไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากเงินที่ได้รับดังกล่าวไม่ใช่ค่าตอบแทนจากการขายสินค้าหรือให้บริการ
- กรณีร้านค้าต้องจ่ายให้บริษัทขนส่ง เงินส่วนนี้ถือเป็นค่าขนส่งที่ต้องจ่ายเพิ่ม ร้านค้าที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลอื่นต้องหักภาษีณที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 (ถ้าลูกค้าเป็นบุคคลธรรมดาไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย) ส่วนบริษัทขนส่งเมื่อได้รับย่อมได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มเนื่องจากเป็นค่าขนส่ง
อ้างอิงจาก นายชุมพร เสนไสย
ที่ปรึกษาคณะกรรมการวิชาชีพด้านการบัญชีภาษีอากร สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์