ค้าขายสินค้าออนไลน์ ผ่าน Shoppee/ Lazada/ Tiktok VS ภาษีที่ต้องระวัง

ค้าขายสินค้าออนไลน์ ผ่าน Shoppee/ Lazada/ Tiktok VS ภาษีที่ต้องระวัง

ค้าขายสินค้าออนไลน์ ผ่าน Shoppee/ Lazada/ Tiktok คือ การที่ผู้ประกอบการร้านค้านำสินค้าของตนเองมาวางขายในแพลตฟอร์มของตนเองจะมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการจากเจ้าของสินค้า ตามอัตราและจำนวนที่ตกลงกัน โดยผู้ซื้อสินค้าสามารถค้นหาสินค้าที่ต้องการซื้อและทำการซื้อสินค้าผ่าน แพลตฟอร์มนั้น และแพลตฟอร์มส่งคำสั่งซื้อให้เจ้าของสินค้าส่งสินค้าให้ลูกค้า หรือบางกรณีเจ้าของสินค้าได้ส่งสินค้าไปเก็บไว้ที่แพลตฟอร์มอยู่ก่อนแล้ว และแพลตฟอร์มได้ส่งสินค้าให้ลูกค้าเอง และภายหลังจากนั้นแพลตฟอร์มจะได้โอนเงินค่าสินค้าให้เจ้าของสินค้า โดยได้หักค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการออกจากเงินค่าสินค้าที่โอนให้เจ้าของสินค้า

การค้าขายสินค้าออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าว ภาพแพลตฟอร์มเป็นตัวกลางที่รับคำสั่งซื้อจากลูกค้าและรับโอนเงินจากลูกค้าเข้าบัญชีของแพลตฟอร์ม เพื่อส่งคำสั่งซื้อไปยังเจ้าของสินค้าและถือเงินแทนลูกค้าแล้วโอนไปเข้าบัญชีเจ้าของสินค้าภายหลัง จะมีภาระภาษีที่เกี่ยวข้องมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม และ ค่าขนส่ง ซึ่งบทความในวันนี้ บริษัท ทำบัญชี M.F.N.Accounting จะมาเจาะลึกเรื่องของ ค้าขายสินค้าออนไลน์ กับ ปัญหาเกี่ยวกับภาระภาษีเงินได้ และ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย 

ขายสินค้าออนไลน์

ภาระภาษีเงินได้ จาก ค้าขายสินค้าออนไลน์

ภาระภาษีเงินได้สำหรับการ ค้าขายสินค้าออนไลน์ ดังกล่าว ให้พิจารณาว่าเจ้าของสินค้าเป็นใคร ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาก็จะเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยเงินได้จากการขายสินค้านั้นเป็นเงินได้ตามมาตรา 40(8) แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อเจ้าของสินค้าได้รับเงินโอนเข้าบัญชีจากการที่แพลตฟอร์มได้โอนมาให้ในปีใด จะต้องถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษีในปีนั้น โดยเงินที่ได้ต้องนำมาเสียภาษีต้องเป็นจำนวนเงินได้ที่ได้รับจากการขายสินค้าก่อนหักค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการที่แพลตฟอร์มได้หักไว้ (ส่วนการหักค่าใช้จ่ายของเจ้าของสินค้า ถ้าเป็นกรณีที่เป็นการซื้อสินค้าแล้วมาขายต่อ มีสิทธิหักค่าใช้จ่ายตามความจำเป็นและสมควรได้ หรือเลือกหักค่าใช้จ่ายในอัตราร้อยละ 60 ก็ได้) แต่ถ้าเจ้าของสินค้าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เจ้าของสินค้าจะต้องนำรายได้จากการขายสินค้านั้นมารวมคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลในรอบระยะเวลาบัญชีที่เกิดรายได้ตามเกณฑ์สิทธิตามมาตรา 65 แห่งประมวลรัษฎากร

ขายสินค้าออนไลน์

การค้าขายสินค้าออนไลน์ และข้อควรรู้เกี่ยวกับ ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย

การจ่ายเงินค่าสินค้า ตามกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ผู้จ่ายเงินมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย (ยกเว้นการซื้อขายสินค้าพืชไร่บางกรณีที่กฎหมายกำหนดให้หักภาษี ณ ที่จ่าย และกรณีการขายสินค้าให้ราชการซึ่งต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 ดังนั้น การขายสินค้าออนไลน์ ผู้ซื้อสินค้าจึงไม่มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายไม่ว่าผู้ซื้อสินค้าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล 

แต่อย่างไรก็ตาม การค้าขายสินค้าออนไลน์ จะมีประเด็น เมื่อมีการเรียกเก็บเงินค่าสินค้าจากลูกค้าซึ่งอาจมีการเรียกเก็บค่าขนส่งสินค้า ซึ่งการจ่ายค่าขนส่งนั้นมีกฎหมายกำหนดให้ผู้จ่ายที่เป็นบริษัท หรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 1 แต่ถ้าผู้จ่ายเงินเป็นบุคคลธรรมดา การจ่ายค่าขนส่งไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เนื่องจากกฎหมายไม่ได้กำหนดให้ต้องมีการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่สำหรับการ ขายของออนไลน์ ที่มีการขนส่งให้แก่ผู้ซื้อสินค้าด้วย ถ้าผู้ขายสินค้าไม่ได้ประกอบกิจการขนส่งเป็นปกติธุระ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้ขายสินค้าก็มักจะไม่ประกอบกิจการขนส่ง ค่าขนส่งที่มีการเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าจึงถือเป็นส่วนหนึ่งของค่าสินค้าซึ่งไม่อยู่ในบังคับที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายแต่อย่างใด

ปัญหาที่อาจพบได้ในการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับการ ค้าขายสินค้าออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม

ปัญหาในการหักภาษี ณ ที่จ่ายสำหรับการ ค้าขายสินค้าออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม ถ้าจะมีปัญหาจะไม่ใช่ปัญหาระหว่างผู้ขายสินค้ากับผู้ซื้อสินค้า แต่จะเป็นปัญหาระหว่างเจ้าของสินค้าที่เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นที่นำสินค้าไปขายผ่านแพลตฟอร์ม กับแพลตฟอร์ม (ถ้าเจ้าของร้านค้าเป็นบุคคลธรรมดากฎหมายไม่ได้กำหนดให้การจ่ายเงินค่าบริการหรือค่าธรรมเนียมที่บุคคลธรรมดาจ่ายจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายจึงไม่มีปัญหา) เพราะการจ่ายเงินค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการที่เจ้าของสินค้า หรือร้านค้าจะต้องจ่ายให้แพลตฟอร์มจะต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตราร้อยละ 3 (แพลตฟอร์มเป็นบริษัทในไทย) ผู้จ่ายเงินนั้นจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่ายอย่างใด ในเมื่อในขณะที่แพลตฟอร์มโอนเงินให้เจ้าของสินค้าได้โอนเงินหลังจากหักค่าธรรมเนียมและค่าบริการไปแล้ว โดยเจ้าของสินค้าดังกล่าวไม่ได้จ่ายเงินออกจากตนเอง ซึ่งการที่แพลตฟอร์มได้หักเงินค่าธรรมเนียมและค่าบริการจากสินค้าที่ต้องโอนให้เจ้าของสินค้านั้น ก็ถือได้ว่าเจ้าของสินค้าได้จ่ายเงินค่าธรรมเนียมและบริการให้แพลตฟอร์ม ดังนั้น ณ วันดังกล่าว เจ้าของสินค้าดังกล่าวจะต้องทำการหักภาษี ณ ที่จ่าย แต่ในทางปฏิบัติ จะหักภาษี ณ ที่จ่ายได้อย่างไร ในเมื่อเงินค่าธรรมเนียมและค่าบริการไม่ได้โอนจากเจ้าของสินค้าหรือร้านค้า และแพลตฟอร์มก็ไม่ได้โอนภาษีหัก ณ ที่จ่ายมาให้แพลตฟอร์มเพื่อนำส่งภาษีให้กรมสรรพากร ดังนั้น เจ้าของสินค้าจึงมีหน้าที่ต้องนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายให้กรมสรรพากร ปัญหาก็คือ ภาษีหัก ณ ที่จ่ายที่ต้องนำส่งดังกล่าว เจ้าของสินค้าจะนำเงินใครไปนำส่งภาษีให้กรมสรรพากร ก็มีทางเลือกอยู่ 2 ทางคือ

  1. นำเงินของตนเองไปนำส่งเท่ากับจำนวนภาษีที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย เพื่อให้ตนเองพ้นความผิด
  2. ไปเรียกร้องเงินภาษีหัก ณ ที่จ่ายจากแพลตฟอร์มและออกหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่ายให้แพลตฟอร์ม นำไปใช้เป็นเครดิตภาษีในการยื่นแบบ ภ.ง.ด. 50 เมื่อสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี

ซึ่งทางเลือกที่ 2 น่าจะเป็นทางเลือกที่ยุติธรรมสำหรับทั้งสองฝ่าย ดังนั้นแพลตฟอร์มควรจะวางแผนเกี่ยวกับภาษีที่ต้องถูกเจ้าของสินค้าหักภาษีณที่จ่ายและนำส่ง เพื่อไม่ให้เจ้าของสินค้ามีปัญหาในการนำส่งภาษีหัก ณ ที่จ่ายไม่ถูกต้อง และทางเลือกหนึ่งที่แพลตฟอร์มสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยไม่เดือดร้อนกับเจ้าของสินค้า ก็คือ อาจทำเรื่องให้เจ้าของสินค้าแต่งตั้งแพลตฟอร์มเป็นตัวแทนในการหักภาษีณที่จ่าย ยื่นรายการและนำส่งภาษี โดยอาจจะทำเรื่องต่อกรมสรรพากรเพื่อให้การจัดการตามวิธีนี้ สามารถที่จะให้เอกสารในการยื่นรายการแทนเจ้าของสินค้า เป็นหลักฐานในการเครดิตภาษีแทนหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย

 

อ้างอิงจาก นายชุมพร เสนไสย

ที่ปรึกษาคณะกรรมการวิชาชีพด้านการบัญชีภาษีอากร สภาวิชาชีพบัญชีในพระบรมราชูปถัมภ์

3 thoughts on “ค้าขายสินค้าออนไลน์ ผ่าน Shoppee/ Lazada/ Tiktok VS ภาษีที่ต้องระวัง”

Leave a Comment