
ภาษีขายหุ้น คืออะไร คำนวณยังไง เริ่มเก็บเมื่อไร นักลงทุนควรรับมืออย่างไร
ภาษีสำหรับการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ได้รับการยกเว้นมาเป็นเวลากว่า 30 ปีแล้ว และปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้เติบโตขึ้นอย่างมากโดยมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Capitalization) เพิ่มขึ้นถึง 22 เท่าจาก 30 ปีก่อน จึงเห็นควรยกเลิกการยกเว้นการเรียกเก็บ ภาษีขายหุ้น ดังกล่าว โดยกำหนดอัตราภาษีเฉพาะสำหรับการซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหุ้น 0.05% ตั้งแต่วันที่มีผลบังคับใช้ (คาดว่าจะเริ่มใช้ในช่วงเดือนเม.ย. 2566) ถึง 31 ธ.ค. 2566 และกำหนดอัตรา 0.10% ตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป
ทำความเข้าใจก่อนเริ่มลงทุน ภาษีขายหุ้น คืออะไร?
ภาษีขายหุ้น หรือ Financial Transaction Tax เป็นภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax) ที่เป็นภาษีประเภทหนึ่งตามประมวลรัษฎากร ซึ่งจะจัดเก้บจากกิจการบางประเภทที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษแยกต่างหากจากภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยจะมีกรมสรรพกรเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการจัดเก็บ
ทั้งนี้ โดยปกติ ภาษีธุรกิจเฉพาะจะจัดเก็บจากกิจกรรมซื้อขายสินค้าและให้บริการเช่นเดียวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่จะเป็นคนละส่วนกันซึ่งจะไม่ทับซ้อนกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กล่าวคือ ถ้ากิจการนั้นต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะจะไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในทางกลับกัน ถ้ากิจการนั้นเสียภาษีมูลค่าเพิ่มก็จะไม่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ภาษีธุรกิจเฉพาะ มีไว้เพื่ออุดช่องโหว่จากกิจการที่หามูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือให้บริการได้ยาก เช่น ธุรกิจการเงิน อย่างการขายหุ้น ซึ่งประเมินได้ยากว่ามูลค่าเพิ่มจากการขายสินค้าหรือให้บริการนั้นเป็ยมูลค่าเท่าไหร่ จึงไม่สามารถจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ดังนั้น การซื้อขายหุ้น จึงใช้ ภาษีขายหุ้น ซึ่งภาษีธุรกิจเฉพาะมาใช้คำนวนการจัดเก็บแทน
ภาษีหุ้นมีอะไรบ้าง การคำนวณ ภาษีขายหุ้น ต้องทำอย่างไร
ก่อนเข้าสู่วงการหุ้นที่นักลงทุนต้องรู้ คือ เมื่อมีการขายหุ้นหรือมีกำไรจะต้องเสีย ภาษีขายหุ้น จะมีภาษีที่เกี่ยวข้อง 2 ประเภท ได้แก่
1. ภาษีเงินได้
ภาษีเงินได้ เป็นภาษีทางตรงที่เก็บจากเงินได้ของผู้ที่มีรายได้ โดยปกติแล้วภาษีเงินได้สามรถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับการคำนวณ ภาษีขายหุ้น นักลงทุนจะต้องคำนวนจาก ผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ (Capital Gain Tax) และ ภาษีจากเงินปันผล (Dividend Tax)
1.1 ผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ (Capital Gain Tax)
ผลกำไรจากส่วนต่างของราคาหลักทรัพย์ (Capital Gain Tax) ภาษีกำไรจากเงินลงทุน คือภาษีเงินได้จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ที่เกิดจากส่วนต่างของราคาหุ้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือกำไรที่ได้รับจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง ซึ่งถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ช) ผลประโยชน์จากการโอนหุ้น โอนหน่วยลงทุน หรือโอนหุ้นกู้ พันธบัตรหรือตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่บริษัทหรือห้างหุ้นสวนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก รวมทั้งเงินได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนให้แก่บริษัทหรือห้างหุ้นสวนนิติบุคคลที่เป็นกองทุนรวมโดยคำนวณจาก
มูลค่าหุ้นที่ขาย – มูลค่าหุ้นตามราคาที่กำหนดต่อหุ้น (ราคาพาร์) ณ วันที่ซื้อหุ้น = กำไรจากส่วนต่างราคา
เช่น ซื้อหุ้นบริษัทมหาชนแห่งหนึ่งมาในราคา 10 บาท และขายไปที่ราคา 11 บาท
กำไรจากส่วนต่างราคาเท่ากับ 11 – 10 = 1 บาท => กำไรจำนวน 1 บาท จะถูกนำไปคำนวณเงินได้
ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยไม่มีการเก็บภาษีส่วนนี้สำหรับนักลงทุนที่เป็นบุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงเงินได้จากการขายหุ้นที่เป็นหุ้นกู้หรือพันธบัตร แต่จะมีการเรียกเก็บกับนิติบุคคลที่มีกำไรส่วนนี้
1.2 ภาษีจากเงินปันผล (Dividend Tax)
เมื่อนักลงทุนได้รับเงินปันผลจากบริษัทที่นักลงทุนถือหุ้นอยู่ จะถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ไว้ในอัตรา 10% เสมอ และมีทางเลือกให้นักลงทุนสามารถขอเครดิตภาษีคืนได้ผ่านการยื่นภาษีเงินได้ประจำปีนั่นเอง
2. ภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ภาษีขายหุ้น
ภาษีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ ภาษีขายหุ้น ประกอบด้วย ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และ ภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax) ซึ่งจะมีรายละเอียดการคำนวน ดังนี้
2.1 ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
เป็นภาษีที่เก็บจากค่าธรรมเนียมในการซื้อขายหุ้น โดยในปัจจุบันอยู่ที่อัตรา 7% ของมูลค่าค่าธรรมเนียมที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นธุรกรรมซื้อหุ้นหรือขายหุ้นก็ตาม
2.2 ภาษีธุรกิจเฉพาะ (Specific Business Tax)
เป็นภาษีจากธุรกรรมการขายหุ้น (Transaction Tax) ในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ทั้งสิ้นโดยเดิมได้กำหนดการเสียภาษีในอัตรา 0.10% ของมูลค่าที่ขาย แต่ภาษีดังกล่าวได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 ตามพระราชกฤษฎีกาฯ (ฉบับที่ 240) พ.ศ. 2534
ดังนั้นภาษีที่เป็นเราจะพูดถึงในบทความนี้ก็คือ ภาษีธุรกิจเฉพาะหรือภาษีขายหุ้นนั่นเอง ซึ่งเดิมถูกยกเว้นการจัดเก็บมาเกือบ 30 ปีแล้วเมื่อจะกลับมาเก็บทำให้หลายฝ่ายได้รับผลกระทบ เพราะไม่ว่ารายการที่เกิดขึ้นนั้นจะทำให้นักลงทุนได้กำไรหรือขาดทุนก็จะต้องเสียภาษีนี้เพิ่มขึ้นมาเสมอโดยโบรกเกอร์จะต้องนำส่งภาษีการขายดังกล่าวมาให้กรมสรรพากรในทุกเดือน
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเมื่อมีการเก็บ ภาษีขายหุ้น
1. นิติบุคคล จะต้องเตรียมรับมือกับการจัดเก็บ ภาษีขายหุ้น อย่างไร
นิติบุคคลที่เป็นผู้ขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ จะถูกจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากรายรับก่อนห้กรายจ่ายใด ๆ มิใช่จากกำไรจากการขาย (Capital Gains) โดยจัดเก็บ 0.05% (0.055% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น) ในปี 2566 และ 0.10% (0.11% เมื่อรวมภาษีท้องถิ่น) ในปี 2567 เป็นต้นไป
2. เมื่อมีการจัดเก้บภาษีขายหุ้น บุคคลธรรมดา ต้องเตรียมตัวอย่างไร
บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ จะถูกจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะเช่นเดียวกับนิติบุคคล หากแต่ภาษีเงินได้จากการขายหลักทรัพย์หรือกำไรจากเงินลงทุน (Capital Gains Tax) คือ ภาษีเงินได้จากกำไรจากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กรณีบุคคลธรรมดาได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีตามที่กำหนดเช่นเดิม
3. โบรกเกอร์ ผู้เป็นตัวแทนผู้ขาย ต้องรับมือกับการจัดเก็บ ภาษีขายหุ้น อย่างไรดี
Broker ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ ขาย หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขาย และยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีแทนผู้ขายในนามของ Broker เอง โดยผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก และให้ถือว่า Broker เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะในกรณีนี้
อย่างไรก็ดี จากแผนเดิมที่คาดว่ากฎหมายจะเริ่มมีผลบังคับใช้ในเดือน พ.ค.66 ซึ่งถ้าหากจะให้เป็นไปตามขั้นตอนนั้น ก็จะต้องมีการนำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายในเดือนก.พ.2566 เพราะกฎหมายเมื่อลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว จะมีผลบังคับใช้หลังจากนั้นอีก 3 เดือน คือมีผลในวันที่ 1 ของเดือนที่ 4 ดังนั้นความเป็นไปได้ที่กฎหมายภาษีขายหุ้นคงไม่ทันที่จะบังคับในเดือนพ.ค. ตามกำหนดเดิม
แต่!! “ตอนนี้คงไม่น่าจะทัน เพราะถ้าเป็นตามกรอบนั้น ก็จะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในเดือนก.พ. แต่นี่เดือนมี.ค.2566 แล้ว ส่วนจะเป็นช่วงไหนนั้น ไม่สามารถตอบได้ เพราะกฎหมายบางฉบับก็ใช้เวลามาก แต่บางฉบับก็ไม่นาน แล้วแต่จังหวะเวลา” หากมีข้อสงสัยสามารถติดต่อ สอบถาม บริษัท ทำบัญชี MFN Accounting เรามุ่งมั่นที่จะมอบบริการชั้นยอดให้กับลูกค้า บริษัทรับทำบัญชี ที่ ครบ จบ ในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็น วางแผนภาษี ปิดงบการเงินประจำปี ตรวจสอบบัญชี จดทะเบียนบริษัท และ ห้างหุ้นส่วน