5 ข้อควรรู้ เทคนิคและแนวการวางแผนภาษี ที่จะทำให้ธุรกิจยั่งยืน
คนทั่วไปเมื่อได้ยินคำว่า วางแผนภาษี มักจะเข้าใจว่าเป็นการวางแผนเพื่อไม่ให้ต้องมีการเสียภาษี จนคำนี้ถูกมองไปในแง่ร้ายมากกว่าแง่ดี แต่แท้จริงแล้ว การวางแผนภาษีที่ดี ที่ถูกต้อง เป็นการกระทำที่เป็นไปในทางดี มีประโยชน์ต่อผู้เสียภาษี และผู้จัดเก็บภาษีเรียกได้ว่าสมประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ทั้งนี้ เพราะการวางแผนภาษีที่ถูกต้อง คือ การที่ต้องรู้กฎกติกาในการเสียภาษีแต่ละเรื่องเพื่อให้มีการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ไม่เสี่ยงต่อการถูกจับปรับกันในภายหลัง ซึ่งการกระทำเช่นนี้ ทำให้ผู้เสียภาษีที่เป็นผู้ประกอบการก็สามารถบริหารจัดการต้นทุนของกิจการได้อย่างถูกต้อง
ในขณะเดียวกันในด้านผู้จัดเก็บภาษีก็จะจัดเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่เสียเวลาหรือค่าใช้จ่ายในการไปไล่ล่าจับปรับกัน ซึ่งบ่อยครั้งที่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการไปหาข้อยุติกันในชั้นศาล นอกจากจะเสี่ยเงินทองแล้วยังเป็นภาพที่ส่งผลให้ผู้เสียภาษีรายอื่น ที่ไม่เข้าใจ ไม่รู้เรื่อง มองว่า เป็นการหาเรื่องเพื่อจัดเก็บภาษี เพราะถ้าผิดจริงตามข้อกฎหมายก็น่าจะยุติได้โดยง่าย แต่การไปสู่ศาล แปลว่า ไม่ชัดเจน ต้องใช้ดุลยพินิจ จึงต้องให้ศาลตัดสินเพื่อหาข้อยุติ
การวางแผนภาษีมีข้อดีอย่างไร ทำไมถึงต้อง วางแผนภาษี
การวางแผนภาษีที่ถูกต้อง จึงไม่ใช่การหนีภาษี (Tax Evasion) ที่เป็นการกระทำที่ทุจริตผิดกฎหมาย ที่พยายามหลีกเลี่ยงหรือ หลบหลีกการเสียภาษี หรือทำทุกอย่างให้เสียภาษีน้อยลงด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง แต่การเลี่ยงการเสียภาษี (Tax Avoidance) ที่ใช้ช่องโหว่ทางกฎหมาย ที่เปิดช่องให้สามารถทำได้ การกระทำเช่นนี้ก็สามารถทำได้ตามกฎหมายที่อนุญาตให้ทำ แต่หากการกระทำนั้นเกินขอบเขตที่กฎหมายอนุญาตก็จะกลายเป็นการหนีภาษีได้เช่นกัน ดังนั้นการวางแผนภาษีกรณีที่กฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ ก็ต้องให้ความระมัดระวัง ให้อยู่ภายในขอบเขตเท่านั้น ตัวอย่างเช่น ประมวลรัษฎากร มาตรา 40 วรรคสอง วรรคสาม ที่ระบุว่า “ผู้อยู่ในประเทศไทยมีเงินได้พึงประเมิน
ตามมาตรา 40 ในปีภาษีที่ล่วงมาแล้ว เนื่องจากหน้าที่งานหรือกิจการที่ทำในต่างประเทศ หรือเนื่องจากทรัพย์สินที่อยู่ในต่างประเทศต้องเสียภาษีเงินได้ตามบทบัญญัติในส่วนนี้เมื่อนำเงินได้พึ่งประเมินนั้นเข้ามาในประเทศไทย” “ผู้ใดอยู่ในประเทศไทยชั่วระยะเวลาหนึ่งหรือหลายระยะ รวมเวลาทั้งหมดถึงหนึ่งร้อยแปดสิบวันในปีภาษีปีใด ให้ถือว่าผู้นั้นเป็นผู้อยู่ในประเทศไทย” กรณีนี้ถ้าอยู่ในประเทศไทยเกินร้อยแปดสิบวัน และนำเงินได้เข้ามาในปีที่เกิดเงินได้ ก็จะต้องเสียภาษีเงินได้ แต่ถ้านำเงินได้เข้ามาในปีถัดไป เช่นนี้ก็จะได้รับยกเว้นเป็นต้น และหากอยู่ในประเทศที่มีอนุสัญญาภาษีซ้อน ก็อาจต้องดูข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
สิ่งสำคัญที่ต้องรู้ใน การวางแผนภาษีที่ดี
การวางแผนภาษีที่ถูกต้อง ไม่ใช่เพียงแต่รู้กฎกติกาทางภาษีอย่างเดียวเท่านั้น ในการวางแผนภาษีที่ดี สำนักงานบญชี จำเป็นต้องมีความรู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมทางธุรกิจ ต้องรู้เรื่องของบัญชี ต้องรู้เรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจด้วย ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายพื้นฐาน หรือกฎหมายเฉพาะประเภทธุรกิจนั้น ๆ ทั้งนี้ เพราะการจะเสียภาษีเงินได้ การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม การเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ หรืออากรแสตมป์ รวมถึงการหักภาษีเงินได้ณ ที่จ่าย ล้วนแล้วแต่เกิดจากธุรกรรมที่ทำ เอกสารหลักฐานประกอบการทำธุรกรรม ซึ่งเป็นเอกสารบ่งบอกรายการที่เกิด นำไปสู่ร้ายการทางบัญชีที่ต้องบันทึกเพื่อการจัดทำเป็นงบการเงินที่เกี่ยวข้อง ในขณะเดียวกันหากไม่มีข้อกำหนดเพิ่มเติมเป็นพิเศษ เอกสารหลักฐานเหล่านั้นก็จะเป็นเอกสารหลักฐานในทางภาษีด้วยเช่นกัน สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น จะนำไปสู่การวางแผนภาษีที่ถูกต้อง หากผู้วางแผนไม่มีความรู้เพียงพอ ก็อาจนำไปสู่การวางแผนภาษีที่ไม่ถูกต้องได้จึงอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ในการวางแผนภาษีสิ่งสำคัญที่ต้องรู้ ได้แก่
1. วางแผนภาษีที่ดี ควร รู้ธุรกิจ กิจกรรม กระบวนการ การทำสัญญา
ความรู้ธุรกิจมีความสำคัญต่อการ วางแผนภาษี ได้แก่ ธุรกิจผลิตสินค้า ขายสินค้า หรือ บริการซึ่งแต่ละธุรกิจจะมีธุรกรรม กิจกรรมที่ทำ รวมถึงกระบวนการทำที่แตกต่างกันแต่ละกิจกรรม กระบวนการนำมาซึ่งเอกสารหลักฐาน สัญญา ที่จะนำไปสู่การบันทึกและจัดทำบัญชี รวมถึงการจัดการทางภาษีที่เกี่ยวข้องด้วย และแน่นอนว่าในการทำกิจกรรม กระบวนงานแต่ละเรื่อง ต้องจัดให้มีการกำกับดูแลที่ดี มีระบบการควบคุมภายในและการบริหารความเสี่ยง รวมถึงการป้องกันทุจริต เพื่อให้ได้ข้อมูลและเอกสารหลักฐานที่ถูกต้อง ครบถ้วน เชื่อถือได้
2. หัวใจหลักของการ วางแผนภาษี คือ การรู้บัญชี และการบริหารจัดการด้านบัญชี
การบริหารจัดการด้านบัญชีที่ต้องเป็นไปตามกฎหมายการบัญชีและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การบันทึกข้อมูลทางบัญชีจะได้จากเอกสารหลักฐานที่ได้มาจากกิจกรรม กระบวนงานที่ต้องมีในแต่ละธุรกิจ ซึ่งมีระบบควบคุมที่ถูกต้องครบถ้วนเชื่อถือได้ เมื่อนำมาจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานการบัญชี ก็จะได้งบการเงินที่ถูกต้อง ครบถ้วน เชื่อถือได้ ทันต่อเวลา ใช้ตัดสินใจเพื่อประโยชน์เชิงเศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
3. วางแผนภาษีได้ถูกต้อง ควรรู้ภาษีและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกิจการ
ในการประกอบธุรกิจ ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งกฎหมายพื้นฐานที่ธุรกิจต้องทำตาม เช่น บัญชี ภาษี แรงงาน กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ฯลฯ หรือกฎหมายเฉพาะสำหรับประเภทธุรกิจที่แตกต่างกันไป เช่น กฎหมายเกี่ยวกับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจโรงแรม โทรคมนาคม โลจิสติกส์ ธุรกิจสุขภาพ ความงาม เป็นต้น การปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะทำให้การทำกิจกรรมกระบวนงาน เป็นไปอย่างถูกต้อง ที่สำคัญลดตันทุน หรือความเสียหาย อันอาจเกิดขึ้นจากการไม่ปฏิบัติตาม หรือปฏิบัติตามไม่ถูกต้อง
4. รู้จักการวางแผนภาษี การวางกลยุทธ์ทางภาษีที่ถูกต้อง
ภาษีที่สำคัญของธุรกิจ คือ ภาษีตามประมวลรัษฎากร จึงต้องทำความเข้าใจกฎกติกา เกี่ยวกับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ บางครั้งต้องเข้าใจอนุสัญญาภาษีซ้อนด้วย เพราะภาษีเหล่านี้จะเกาะติดอยู่กับธุรกรรม กิจกรรม กระบวนงาน ที่ธุรกิจต้องทำควบคู่ไปกับรายการทางบัญชีที่ต้องมีการที่รู้กฎกติกาในภาษีแต่ละเรื่อง จะทำให้ปฏิบัติได้ถูกต้อง สามารถมองเห็นความสี่ยงด้านภาษีตั้งแต่วางแผนกลยุทธ์ จนกระทั่งการนำแผนไปปฏิบัติงาน ทำให้สามารถวางแผนภาษีได้ อย่างถูกต้องจัดสรรสภาพคล่องได้ตามต้องการ โดยเฉพาะได้รู้ถึงต้นทุนทางภาษีที่มีต่อธุรกิจ ซึ่งจะนำมาซึ่งการแข่งขันทางการค้าได้อย่างยั่งยืน
5. วางแผนภาษีที่ดี ควรจะติดตามการปฏิบัติตามแผนภาษีที่วางไว้
การติดตามความเปลี่ยนแปลงทงกฎหมาย โดยเฉพาะทางด้านภาษีจะทำให้เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ไม่ผิดพลาด หากมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงก็สามารถแก้ไขได้ทันท่วงที อีกประการหนึ่ง การติดตามสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ประกาศให้ตามภาวะหรือสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ จะทำให้กิจการได้ใช้สิทธิประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ก็จะเป็นการประหยัดต้นทุนได้ด้วย
จากที่ได้กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า การ วางแผนภาษี ที่ถูกต้องมีความสำคัญมากที่ต้องรู้ตั้งแต่การวางกลยุทธ์ทางธุรกิจ จนถึงการปฏิบัติงานในแต่ละด้าน ประกอบกับการที่ได้มีการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจแล้ว ธุรกิจจะสามารถประสบความสำเร็จในด้านการดำเนินงานที่จะให้ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ สิ่งสำคัญ คือ นอกจากการกำกับดูแลกิจการที่ดีแล้ว ต้องมีคุณธรรมจริยธรรมในการบริหารจัดการโดยเฉพาะในเรื่องของภาษี ซึ่งจะนำไปสู่ความมั่งคั่ง มั่นคง และเติบโตอย่างยั่งยืนในที่สุด
เรียบเรียงโดย นางพรรณี วรวุฒิจงสถิต (กรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านภาษีอากร)