สวัสดิการ ผลประโยชน์พนักงาน จัดเป็นเงินได้ของพนักงานหรือไม่?

สวัสดิการ ผลประโยชน์พนักงาน จัดเป็นเงินได้ของพนักงานหรือไม่?

การที่นายจ้างให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมกับพนักงานหลายอย่าง เช่น ทำประกันโควิด ค่ารักษาพยาบาล เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ วัคซีนโควิด ต้องรวมเป็น เงินได้พนักงาน เพื่อคำนวณภาษีหรือไม่ และในส่วนของนายจ้างเองสามารถนำมา พิจารณารายจ่ายทางภาษี ได้หรือไม่ วันนี้ บริษัท ทำบัญชี M.F.N.Accounting จะมาช่วยคุณไขข้อสงสัยนั้นเอง

นายจ้างสามารถนำค่าใช้จ่ายจากสวัสดิการของพนักงาน มาหักเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้หรือไม่

ในส่วนของนายจ้าง ค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับพนักงาน ในแง่ของกฎหมายภาษีอากรแล้ว บรรดาประโยชน์เพิ่มหรือสวัสดิการที่พนักงานได้รับจากนายจ้าง อาจถือเป็นเงินได้พึงประเมินของพนักงานและต้องนำไปรวมเสียภาษีกับสินจ้างพวก เงินเดือน/ค่าจ้าง ตามความหมายของคำว่า “เงินได้พึงประเมิน” ตามประมวลกฎหมายรัษฎากรมาตรา 29 ที่ระบุว่า

เงินได้พึงประเมิน “ให้รวมถึงทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน” โดยพิจารณาได้จากประเภทขอเงินได้พึงประเมินเนื่องจากการจ้างแรงงานตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร

สวัสดิการบางประเภทที่พนักงาน ที่กิจการบันทึกเป็น ค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับพนักงาน ซึ่งพนักงาน ได้รับจากกิจการอาจจะไม่ต้องรวมเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (1) แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไข ได้แก่

1. สวัสดิการที่เท่าเทียมกัน

สวัสดิการที่เป็นการปฎิบัติให้พนักงานทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน อาจจะแตกต่างกันตามลำดับขั้นของพนักงานได้ แต่ต้องไม่แตกต่างกันในระดับขั้นเดียวกัน เงื่อนไขนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าบริษัท / กิจการไม่ได้เลือกปฏิบัติ ไม่ได้ให้เป็นการส่วนตัว(ซึ่งเป็นรายจ่ายต้องห้าม)

2. สวัสดิการมีกฏและข้อระเบียบที่ชัดเจน

สวัสดิการบางอย่างต้องมีระเบียบปฏิบัติอย่างชัดเจน พนักงานรับรู้กันทุกคน

3. การทำหนังสือรับรู้ ที่เป็นลายลักษณ์อักษร หรือ เอกสารประกอบที่ชัดเจน

ผลประโยชน์ให้พนักงานบางกรณีต้องมีการทำหนังสือรับรู้ หรือได้รับการอนุมัติจากกรรมการเป็นลายลักษณ์อักษร เอกสารประกอบชัดเจน ถูกต้อง พร้อมทั้งเอกสารบันทึกค่าใช้จ่ายต่า งๆ ที่เกิดขึ้นตรงตามที่ได้รับการอนุมัติ

ดังนั้น ค่าใช้จ่าย เกี่ยวกับพนักงาน ที่เรียกกันว่า ค่าสวัสดิการ หากเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่กำหนดไว้เป็นการทั่วไปที่มิใช่เป็นการเลือกปฏิบัติย่อมถือเป็นรายจ่ายในการดำเนินงานสำหรับการคำนวณกำไรสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลไม่ต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (3) และ (13) แห่งประมวลรัษฎากรแต่ต้องพิจารณาต่อไปว่า ค่าสวัสดิการที่พนักงานได้รับนั้นถือเป็นประโยชน์เพิ่มที่เป็นเงินได้พึงประเมินที่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร

สวัสดิการพนักงานแบบใดที่ไม่ถือเป็น เงินได้พนักงาน

ในส่วนพนักงาน มาตรา 39 แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดให้ “เงินได้พึงประเมิน” รวมตลอดถึงประโยชน์อย่างอื่นที่ได้รับ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน ดังนั้น สวัสดิการทั้งหลายที่พนักงานได้รับจากการจ้างแรงงานต้องนำมารวมเป็นเงินได้ เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เว้นแต่จะได้มีกฎหมายกำหนดให้เงินได้นั้นได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้

1. ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง    

สำหรับค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง ที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร กฎกระทรวง ฉบับที่ 126 และการยกเว้นตามพระราชกฤษฎีกาฉบับต่าง ๆ  มีดังนี้

  • ค่าเบี้ยเลี้ยง หรือค่าพาหนะ ซึ่งลูกจ้าง หรือผู้รับหน้าที่หรือตําแหน่งงาน หรือผู้รับทํางานให้ ได้จ่ายไป โดยสุจริตตามความจําเป็นเฉพาะ ในการที่ต้องปฏิบัติการตามหน้าที่ของตนและได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น
  • ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทางตามอัตราที่รัฐบาลกําหนดไว้ โดยพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยอัตรา ค่าพาหนะและเบี้ยเลี้ยงเดินทาง
  • เงินค่าเดินทาง ซึ่งนายจ้างจ่ายให้ลูกจ้าง เฉพาะส่วนที่ลูกจ้างได้จ่ายทั้งหมดโดยจําเป็นเพื่อการเดินทางจากต่างถิ่นในการเข้ารับงานเป็นครั้งแรก หรือในการกลับถิ่นเดิมเมื่อการจ้างได้สิ้นสุดลงแล้ว แต่ข้อยกเว้นนี้มิให้รวมถึงเงินค่าเดินทางที่ลูกจ้างได้รับในการกลับถิ่นเดิม และในการเข้ารับงานของนายจ้างเดิม ภายใน 365 วัน นับแต่วันที่การจ้างครั้งก่อนได้สิ้นสุดลง

เงินได้พนักงาน

2. รถรับ-ส่งพนักงาน    

เฉพาะกรณีรับส่งพนักงานตามเส้นทางที่นายจ้างเป็นผู้กำหนด ตามเวลาที่ระบุไว้ชัดเจน โดยให้บริการแก่พนักงาน เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานเป็นการทั่วไป และเพื่อผลประโยชน์ของบริษัท ไม่ถือเป็น เงินได้พนักงาน หรือ ผลประโยชน์เพิ่มเติมที่ลูกจ้างจะต้องนำมารวมคำนวณกับเงินเดือนหรือค่าจ้าง

3. ค่ารักษาพยาบาล

ค่ารักษาพยาบาลที่บริษัทฯ จ่ายให้แก่พนักงานตามจำนวนที่พนักงานได้จ่ายไปจริงในการรักษาพยาบาล พนักงานจะได้รับยกเว้นไม่จัดว่าเป็น เงินได้พนักงาน ดังนั้น จึงไม่ต้องนำมารวมเพื่อคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามมาตรา 42(17) แห่งประมวลรัษฎากร และข้อ 2(4) (ก) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)

4. ค่าเบี้ยประกันภัย    

กรณีเป็นประกันภัยกลุ่ม ไม่ถือเป็นเงินได้พนักงานได้รับยกเว้นตามข้อ 2(77) แห่งกฎกระทรวงฉบับที่ 126 (เฉพาะส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาล) ส่วนประกันชีวิต และประกันสุขภาพ ที่ไม่ใช่ประกันภัยกลุ่ม ถือเป็น เงินได้พนักงาน ตาม ม.40(1) ต้องนำไปรวมคำนวณเสียภาษีตาม ม.56

5. เงินได้พนักงาน ที่ลูกจ้างจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ  

ตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสํารองเลี้ยงชีพในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 490,000 บาท สําหรับปีภาษีนั้น ทั้งนี้สําหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป

6. ค่าคลอดบุตร

กรณีเงินช่วยเหลือค่าคลอดบุตร หากบริษัทฯ ได้จ่ายเงินให้แก่พนักงานทุกคนเป็นการทั่วไปและเป็นไปตามระเบียบของบริษัทฯ ถือเป็นค่ารักษาพยาบาลที่พนักงานได้รับจากบริษัทฯ เข้าลักษณะเป็นเงินได้ส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้ หรือจ่ายแทนลูกจ้าง สำหรับการรักษาพยาบาลสำหรับลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการี หรือผู้สืบสันดาน ซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง

ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับการรักษาพยาบาลที่กระทำในประเทศไทย ได้รับยกเว้น ไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ประกอบกับข้อ 2 (4) (ก) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509

จะเห็นได้ว่า สวัสดิการบางอย่างที่ได้รับการยกเว้นจากกรมสรรพากรไม่ต้องนำมาคำนวณภาษี เงินได้พนักงาน มักเป็นสวัสดิการที่เป็นไปเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานเป็นการทั่วไป ไม่ได้ให้เพียงพนักงานคนใดคนหนึ่ง โดนทางบริษัทเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ของสวัสดิการนั้น และได้มีการแจ้งให้พนักงานทราบเป็นการทั่วไปมิใช่นโยบายภายในที่รู้กันเฉพาะพนักงานบางราย ซึ่งนอกจากสวัสดิการที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ยังรวมถึงสวัสดิการอื่น ๆ เช่น การจัดงานเลี้ยงในวันปีใหม่ (ไม่รวมกรณีที่มีจับฉลากของรางวัล ซึ่งมูลค่าของรางวัลที่ได้รับต้องนำมาคำนวณในการเสียภาษี) ค่าฌาปนกิจศพ, ทุนการศึกษาแก่พนักงาน และการจัดฝึกอบรมพนักงาน เป็นต้น

เรียบเรียงโดย นางพรเพ็ญ เอื้อปิยะชาติ (กรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการบัญชีภาษีอากร)