
ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นหลังประกาศใช้ กฎหมาย e-Service เพื่อจักเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
จากการที่ได้มีการประกาศพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 บนราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2564 พระราชบัญญัติดังกล่าว กำหนดให้เรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากผู้ประกอบการต่างประเทศ เฉพาะส่วนที่ได้รับจากการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย
ก่อนที่พระราชบัญญัติฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์มายังประเทศไทย จะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ใช้บริการในประเทศไทยจะมีหน้าที่นำส่งแทน ซึ่งผู้มีหน้าที่นำส่งแทนนั้น จะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศไทย นำส่งโดยใช้แบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม ภ.พ.36
ตามแนวทางปฏิบัติเดิมนั้น จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ในราชอาณาจักรไทย มีรายได้ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มเพียงเฉพาะส่วนที่ให้บริการแก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น สำหรับรายได้จากผู้ใช้บริการอิเล็กทรอนิกส์ที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการต่างประเทศจะมีรายได้จากการให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ทั้งจำนวน ไม่ต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
จากปัญหาข้างต้น ทำให้เกิดความเสียเปรียบในการแข่งขันของผู้ประกอบการที่เป็นผู้ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยที่จะต้องนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ผู้ประกอบการต่างประเทศมีรายได้บางส่วนที่มิได้นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่กรมสรรพากรประเทศไทย
ดังนั้นเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ และเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เหมาะสมจึงมีการตราพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 หรือ เรียกกันได้ว่า กฎหมาย e-Service
กฎหมาย e-Service กฎหมายที่ให้อำนาจกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม
กฎหมาย e-Sevice คือ กฎหมายที่ให้อำนาจกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากผู้ให้บริการต่างประเทศที่ให้บริการทาง อิเล็กทรอนิกส์ และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศ ที่ให้บริการทางOnline แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย ในส่วนของผู้รับบริการที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยผู้ให้บริการและแพลตฟอร์มต่างประเทศนั้น มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท ต่อปี
ในขั้นแรก เราควรทราบถึง คำนิยามที่สำคัญตามพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 เป็นอันดับแรก
“บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ” หมายความว่า บริการซึ่งรวมถึงทรัพย์สินที่ไม่มีรูปร่างที่ส่งมอบโดยผ่านทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ตหรือเครือข่ายทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นใด ซึ่งลักษณะของบริการเป็นไปโดยอัตโนมัติในสาระสำคัญ โดยบริการดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้หากปราศจากเทคโนโลยีสารสนเทศ
“อิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม” หมายความว่า ตลาด ช่องทางหรือกระบวนการอื่นใดที่ผู้ให้บริการหลายรายใช้ในการให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้รับบริการ
หลักการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มตามประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 หรือ เรียกกันได้ว่า กฎหมาย e-Service
หลังจากที่เราได้ทราบกันไปแล้วว่า กฎหมาย e-Service กฎหมายที่ให้อำนาจกรมสรรพากรจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จากผู้ให้บริการต่างประเทศที่ให้บริการทาง อิเล็กทรอนิกส์ และผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างประเทศ ที่ให้บริการทาง Online แก่ผู้ใช้บริการในประเทศไทย ฉะนั้นในหัวข้อนี้เราจะพูดถึงผู้ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม กฎหมาย e-Service คือใคร ต้องมีคุณสมบัติอย่างไร และ ผู้ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม กฎหมาย e-Service ต้องมีหน้าที่อะไรบ้าง
ผู้ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม กฎหมาย e-Service
ผู้ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชบัญญัติผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 ได้แก่
- ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการดาวน์โหลดหรือเล่นเกมฟังเพลง ดูภาพยนต์ออนไลน์
- ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการดาวน์โหลดสติ๊กเกอร์ใน Chat Application
- ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการสตรีมมิ่ง คือ การรับส่งสัญญาณถ่ายทอด ไฟล์ มัลติมีเดีย ทั้งภาพและเสียงผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เช่น การถ่ายทอดสด Concert Event เกมรายการต่าง ๆ
- ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการพื้นที่โฆษณาบนเว็บไซต์หรือ Application เช่น Google, Facebook, Youtube, Line, Joox และ Netflix
คุณสมบัติของผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชบัญญัติ
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 ต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- มีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปี
- จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามกฎกระทรวง ที่จะกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เพื่อกำหนดกระบวนการ จดทะเบียนบริษัท จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มทางอิเล็กทรอนิกส์
หน้าที่ของผู้ที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตาม กฎหมาย e-Service
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามพระราชบัญญัติ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฏากร (ฉบับที่ 53) พ.ศ.2564 มีหน้าที่ดังนี้
- เสียภาษีมูลค่าเพิ่มโดยคำนวณจากภาษีขาย โดยไม่ให้หักภาษีซื้อ
- ยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป
- ห้ามออกใบกำกับภาษี ในกรณีให้บริการแก่ผู้ใช้บริการที่มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ในกรณีผู้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์ม โดยมีกระบวนการต่อเนื่องตั้งแต่การนำเสนอการให้บริการ การชำระค่าบริการ การส่งมอบบริการ และการอื่นใดตามที่อธิบดีประกาศกำหนด ให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ทุกรายร่วมกัน โดยไม่ต้องแยกรายละเอียดการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการแต่ละราย และให้ผู้ประกอบการอิเล็กทรอนิกส์แพลตฟอร์มมีหน้าที่และความรับผิดเช่นเดียวกับผู้ประกอบการ และเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักบัญชีหรือผู้ประการ กรมสรรพากรได้เปิดตัว “นวัตกรรมระบบภาษีหัก ณ ที่จ่ายอิเล็กทรอนิกส์ (e-Withholding Tax)” หรือภาษีหัก ณ ที่จ่ายเป็นวิธีการใหม่ที่กรมสรรพากรพัฒนาขึ้นเพื่อเพิ่มความสะดวกลดขั้นตอนให้แก่ผู้ที่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่ายทำการนำส่งเงินภาษีต่อกรมสรรพากร โดยมีธนาคารเป็นตัวกลางในการนำส่งข้อมูลและส่งเงินภาษีให้กับกรมสรรพากร โดยที่ผู้ประกอบการไม่ต้องจัดทำหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย
จากเนื้อหาข้างต้น จะเห็นได้ว่า ไม่มีผลกระทบที่เกิดขึ้นกับนักบัญชีในด้านขั้นตอนการปฏิบัติงานของนักบัญชีแต่อย่างใด หากท่านเป็นนักบัญชีซึ่งปฏิบัติงานในกิจการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ใช้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์จากผู้ให้บริการในต่างประเทศ ท่านยังคงต้องปฏิบัติตามวิธีการเดิม คือนำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มแทนผู้ประกอบการต่างประเทศ ตามแบบแสดงรายการ ภ.พ.36 และสำหรับผู้ที่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อท่านจ่ายค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ประกอบการต่างประเทศจะเป็นผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มต่อกรมสรรพากรประเทศไทยเอง
โดย นางสาวโนรา โพธิ์มัจฉา
กรรมการในคณะกรรมการวิชาชีพบัญชีด้านการบัญชีภาษีอากร